|
|
อ่านโน้ตกันเถอะหน้า 2 และหน้า 3 (update 15เมษายน 2552) การอ่านโน้ตได้เป็นอิสระอย่างหนึ่งทีเดียวครับ
ไม่เชื่อลองเทียบกับการอ่านหนังสือก็ได้ จะเป็นอย่างไรหากคุณไม่รู้หนังสือ
จะไปไหนก็ต้องถามชาวบ้านโดยเฉพาะไปในที่ๆ ไม่เคยไปมาก่อนยิ่งแย่เข้าไปใหญ่
มีคนมาถามผมในรถใต้ดินว่าไปหัวลำโพง ลงไปแล้วขึ้น ขบวนไหน เพราะอ่านหนังสือไม่ออก
ผมบอกว่า ฝั่งหัวลำโพงน่ะ ตัวหนังสือยาวกว่าฝั่งบางซื่อ ขึ้นฝั่งที่ชื่อยาวกว่านั่นล่ะ
แล้วคอยฟังว่าถึงหัวลำโพงแล้ว เขาจะบอกว่าสถานีปลายทาง
ลองมาดูตัวอย่างอีกอันหนึ่งครับ
อันนี้จะเล่นกลุ่มโน้ตที่เรียกว่า C major Scale (ซีเมเจอร์สเกล) ส่วนตัวโน้ตหัวสีขาว
มีหาง (ตัวขาว Half Note)จะแทนค่าความยาว(ทางเวลา) 2 จังหวะ
คนที่เล่นกีต้าร์อาจจะน้อยใจ
ทำไมไม่มีบอกโน้ตที่กีต้าร์บ้าง ไม่เป็นไรครับ มีก็ได้
สาธิตอ่านโน้ตกีต้าร์ position นอก สาธิตอ่านโน้ตกีต้าร์ position ใน
เมื่อเล่นดนตรีเพื่อการร้องเพลง
บางครั้งเราก็หาโน้ตไม่ได้เสมอไป เราต้องอาศัยคอร์ดจากหนังสือเพลง
ในขั้นต่อไปของเรื่องการอ่านโน้ต เครื่องดนตรีที่ผมนึกถึงลำดับแรกคงจะเป็นคีย์บอร์ดถัดมาจากกีต้าร์ซึ่งคนก็สนใจกันมากเช่นกัน ผมเจอหนังสือเก่าเล่มหนึ่งชื่อ Piano Technique ของ Lillie H. Philipp ซึ่งเป็นหนังสือที่น่าสนใจมาก อยากจะเอาเทคนิคมาแบ่งปันกัน แน่นอนครับการเรียนที่ถูกต้องก็ต้องได้เรียนกับครูจริง ๆตัวต่อตัว แต่บางทีโอกาส เวลา และสตางค์ก็ไม่ค่อยอำนวย ผมก็เลยคิดหาวิธีในการสื่อสารความรู้ให้ได้เท่าที่จะทำได้ครับ
ตามรูปจะเห็นว่ามือห่างกันพอสมควร และแขนโดยประมาณตั้งฉากเข้าหาคีย์บอร์ด นี่คือพื้นฐานนะครับ แต่ตอนเล่นโน้ตตัวอื่นก็เลี้ยวมือได้ตามปกติ โน้ตข้างบนเอาไว้ให้อ้างอิงครับ มือวางบนคีย์บอร์ดเหมือนเตรียมเล่นโน้ตต่าง ๆหากเป็นเด็กตำแหน่งโน้ตพื้นฐานก็จะแคบเข้ามา คนตัวใหญ่หน่อยก็อาจจะห่างกว่านี้ ที่อยู่ใต้นิ้วพอดีสังเกตว่า Middle C อยู่ตรงกลางระหว่างสองมือ คือเอาเป็นว่านี่คือตำแหน่งที่นักเปียโนสบายที่สุด ตอนเล่นจริงก็เลี้ยวมือซ้ายขวาได้ตามปกตินะครับ คิดไว้เสมอว่าอะไรที่ฝืนธรรมชาติเกินไปควรจะเลี่ยงหากเล่นไกลไปทางซ้ายหรือขวาจะใช้เอนตัวไปมาเพื่อรักษาตำแหน่งข้อศอก ให้ใกล้เคียงตำแหน่งธรรมชาติเท่าที่ทำได้
ผมว่าคงหมายถึงท้องแขนลงน้ำหนักที่ทำให้เรานั่งเล่นได้เป็น สามสี่ชั่วโมงได้โดยไม่เมื่อยนั่นล่ะครับ คิดง่าย ๆ หากเรายื่นข้อศอกออกไปห่างลำตัวมาก ๆ เราจะเมื่อยได้เร็วกว่าข้อศอกอยู่ใกล้ ๆลำตัว แต่ว่าไม่หากเล่นไกลก็เอาตัวคอยดูแลข้อศอกไว้ ไม่ให้เกิดอาการห่างลำตัวเกินไป หากเคยเห็นนักเปียโนคลาสสิคเล่น การเอนตัวไปมา ส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลอันนี้ครับ ไม่มีอะไรเสียหายหากเราจะ เลียนแบบเทคนิคที่พัฒนามาแล้วหลายชั่วอายุคน
หนังสือเล่มนี้ได้พูดเรื่องลักษณะนิ้วแบบไหนที่ถูกต้อง ที่บางคนก็ว่าปลายนี้ว บางคนก็บอกว่าอุ้งนิ้ว Lillie H. Philipp ได้บอกว่าอย่างใดก็ได้ไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับขนาดของมือและความสะดวก มือเล็กอาจจะทำมือให้แบออกมากกว่าคนมือใหญ่ ซึ่งต้องทำมือ คล้ายรูปถ้วยกว่า หากดูในรูปที่ผ่านมา มือของผมเทียบกับคีย์บอร์ด จะเห็นว่านิ้วยาวปกติ ต้องวางเป็นรูปถ้วยเอาไว้ โดย จัดลักษณะให้ปลายนิ้ววางสัมผัสที่ผิวคียบอร์ด แต่ละตัวเพื่อรอการเล่น ลักษณะการสัมผัสของมือกับคีย์บอร์ดควรจะรอไว้ใกล้ ๆเสมอนะครับ ไม่ควรยกสูงออกมาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะกับเปียโน แน่นอนครับคีย์บอร์ดไฟฟ้าบางยี่ห้อทำไว้ตื้น แค่เผลอแตะเบา ๆก็ออกเสียงแล้ว หากเล่นคีย์บอร์ดแบบนั้นบ่อย ๆจะทำให้ ลักษณะนิสัยของการเล่นคีย์บอร์ดที่ดีเสียไป ดูรูปตัวอย่างนักเปียโนสองคนนี้นะครับ รูปซ้าย Leon Russell กำลังเอียงตัวไปทางซ้าย ดูมือขวาพอรู้ว่าตอนเด็ก ๆ อาจจะเคยผ่าน การเรียนเปียโนมาบ้างแล้ว การที่เอียงไปข้างซ้ายก็คงเพราะไมค์อยู่ด้านนั้นด้วย การเอียงตัวทำให้สะดวกต่อการเล่นและสะดวกต่อการรร้องเพลง ด้วยเหมือนกัน ส่วนรูปขวามือ Carole King คนนี้มีชื่อเสียงนานหน่อย รู้จักกันดีในสมัยก่อนคือเพลง You've got a friend และล่าสุด จากหนังเรื่อง You got mail เพลง Anyone at all (บังเอิญรู้จักมากกว่า Russell เท่านั้นเองเลยเล่าได้ยาวกว่า) แอคชั่นการเล่นเปียโน เป็นตัวอย่างที่ดี จากที่เคยบอกครับ แขนที่ห้อยลงมา ข้อศอกข้างลำตัว มืออยู่บนคีย์บอร์ดพอดีโดยไม่ต้องเอื้อม และไม่ต้องหดตัวกลับ แบบว่า พอดี พอดี เลยครับ จำท่านั่งนี้ไว้ด้วยนะครับ หากอยากเป็นนักเล่นคีย์บอร์ดหรือเปียโน และร้องเพลงด้วย ในหนังสือบอกว่าคนสมัยก่อนประมาณยุคของ J.S. Bach เล่นคีย์บอร์ดด้วยนุ้วแบ ๆกว่านี้มากเป็นเพราะว่าคีย์บอร์ดสมัยนั้นยังไม่ใช่เปียโนแบบ สมัยนี้ คีย์บอร์ดสมัยก่อนเสียงเบามาก เช่นฮาร์ปสิคอร์ด หรือว่าคลาวิคอร์ด เปียโนมาพัฒนาให้เล่นดังมากได้ เบามากได้ในยุคของเบโธเฟ่นจริง ๆ คือยุคปลายคลาสสิคต่อด้วยโรแมนติก ทำให้ตั้งชื่อว่า เปียโน ฟอร์เต้ คำว่าเปียโน จริง ๆแล้วต้องอ่านค่อนข้างออกเพีย-อา-โน (กล้ำกันทั้งคำ) แปลว่าเบา ส่วนฟอร์เต้ อ่าน ฟอร์เท่ (อ่านคำว่าเท่ เบา ๆ)แปลว่าดัง คือเครื่องดนตรีที่เล่นทั้งเบาและดังได้ ก็หมายถึงคีย์บอร์สมัยก่อนหน้า นั้นทำไม่ได้ด้วยนั่นเอง ความสำคัญของนิ้วโป้ง นิ้วโป้งนั้นเป็นนิ้วที่ตามธรรมชาติแล้ว หากไม่มีเราจะหยิบจับสิ่งของต่าง ๆได้ยากมาก บนคีย์บอร์ด หากเราขาดนิ้วโป้งไป จะทำให้การเล่นของเราลำบากมากเช่นกัน นิ้วโป้งช่วยให้เราเปลี่ยนทิศทางการเล่น ในการไล่นิ้วลง (ไปทางซ้าย) หรือไล่นิ้วขึ้น (ไปทางขวา) ได้สะดวกมากขึ้น นิ้วโป้งมีศักยภาพในการสอดใต้ หรือให้นิ้วอื่นไขว้ข้าม โดยที่ไม่ต้องพลิกข้อมือ อย่างที่ว่าเหมือนกัน หนังสือของ Lillie H. Philippได้บอกว่า คนสมัยก่อนบางทีก็เล่นเพียงแค่สามนิ้วแรกด้วยซ้ำคือ โป้ง ชี้ และ นิ้วกลาง ก็เล่นเพลงได้แล้ว ไม่ต้องอะไรหรอกครับ หากบ้านเรามีคนหัดเล่นคีย์บอร์ดแบบหัดเอง จะสังเกตว่าจะใช้สามนิ้วแรกนี้ด้วย เทคนิคที่เราเห็นการเล่นเปียโนแบบปัจจุบัน นับได้ว่าพัฒนามา แล้วจากการที่คีย์บอร์ดเริ่มต้องการน้ำหนักการกดสูงขึ้น ดนตรีต้องการการใช้นิ้วในแบบหลากหลายขึ้น นับได้ว่า เบโธเฟ่น เป็นอาจารย์ใหญ่ด้าน นี้ทีเดียวครับในการพัฒนาเทคนิคเปียโนจนถึงปัจจุบันนี้ หากเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ การเล่นก็คงเป็นซอฟท์แวร์ ส่วนการพัฒนาเปียโนให้ เล่นดัง และเบาได้ ก็คือฮาร์ดแวร์ มีอยู่ยุคหนึ่งที่นักเล่นคอมพ์บ้านเราพูดกันบ่อย ๆว่า ซอฟท์แวร์พัฒนาตามฮาร์ดแวร์ไม่ทัน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอุปกรณ์มา คนก็คิดเทคนิคในการใช้งานมันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด เหมือนไมโครซอฟร์คือเบโธเฟ่นของวงการคอมพิวเตอร์ ก็คงไม่ผิดนักครับ หนังสือยังบอกว่า การสอดนิ้วแบบนี้ หรือการไขว้นิ้วข้ามต้องฝึกฝนไม่ให้ใช้ข้อศอกช่วย ใช้แต่ข้อมือเท่านั้นซึ่งสำคัญมาก ที่คนเล่นคีย์บอร์ดทุกคน ควรจำไว้ขณะฝึกซ้อมเสมอ ๆ การใช้ข้อศอกช่วยหนังสือยังบอกว่าจะเป็นท่าทางที่เก้ ๆกัง ๆไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง คิดไว้อย่างเดียวว่า ข้อมือ ๆ ๆ ศอกอยู่ข้างตัว ขนานลำตัว จะเล่นไกลไปทางไหนก็เอนตัวไปหา จำไว้ ๆ ฯลฯ Interval and Eartraining ต่อไปจะมาเข้าเรื่องที่คล้าย ๆกับเป็น ear test ผสมความรู้เชิงทฤษฎีดนตรีด้วยครับ หากใครเคยเข้าไปที่ interval test แล้วล่ะก็รู้สึกงง ๆ กับมันหากจะอ่านที่นี่จะช่วยอธิบายได้ครับ อย่างที่เคยเกริ่นไปแล้วว่าการเรียนดนตรีนอกจากเล่นได้ร้องได้ทำได้แล้ว ยังควรจะต้องอ่านออก เขียนได้อีกด้วย เพราะว่าชีวิตนี้สั้นนัก เกิดมาทั้งทีทำให้มันได้ทุกมุมกันเลยสิน่า ความรู้ที่จะว่าต่อไปนี้ จะยังมีประโยชน์สำหรับผู้ที่อยากไปเรียนต่อเมืองนอก นักดนตรีหลายคนเล่นเก่งมากแต่ไม่ได้เรียนทฤษฎีเลย จะมีปัญหา ในการขอไปเรียนต่อมาก เพราะว่าไม่เคยเรียนวิชาทฤษฎีดนตรี ซึ่งจำเป็นมาก ๆที่จะต้องใช้ในการสมัคร แม้แต่ University ยังต้องใช้เลย แล้วระดับสูงขึ้นไปเช่น Music School เช่น Juliyard School Of Music หรือ Manhanttan School Of Music (บ้านเก่าผม) ต้องใช้กันหมดทั้งนั้น แต่ไม่ต้องถอดใจนะครับ เพราะว่าจะพยายามทำให้ทุก ๆอย่างง่ายเข้าไว้ อะไรจะยาก แต่หากได้ครูเหมาะสม ทุกอย่างก็จะกระจ่างชัดเร็วขึ้น Scale ก็คือกลุ่มของตัวโน้ตที่เราเลือกใช้และมีอัตราส่วนห่างจากกันเป็นสัดส่วนแน่นอนตามชื่อของมัน สเกลคือกลุ่มโน้ตที่เราใช้เล่นดนตรีกัน ผมจะไปที่ Major Scale ก่อน C major scale เป็นอันดับแรก ใครที่เคยเข้าไปฟัง interval test (แวะไปดูอีกทีก็ได้) จะเห็นว่าผมมีแบบทดสอบ 3 อันให้คลิก อันแรก จะเป็นโน้ตตัว โด กับตัว เร กดพร้อมกัน คำตอบคือ M2 (ย่อมาจาก Major second) หากไปดูข้อที่ 2 เป็นโน้ต โด คู่กับ มี คำตอบคือ M3 (ย่อมาจาก Major third) ส่วนข้อ 3 โด คู่กับ ซอล คำตอบคือ P5 (ย่อมาจาก Perfect fifth) ;วิธีการฟังให้เวิร์ค ๆ แนะนำให้ click play อัน 1 อัน 2 อัน 3 สลับโน่นนี่ไปมา(โดยไม่ต้องคลิกคำตอบ) เราจะได้ยินชัดว่า ตัวโดจะได้ยิน ตลอดเวลา แต่โน้ตที่คู่มันจะเปลี่ยนกันไป เพราะฉะนั้น เรามาดูชื่อของมัน สาเหตุที่ว่าทำไมบางคู่ M และบางคู่เป็น P กันดีกว่า ตัว โด คู่ โด เราเรียกว่า Perfect Unison เรียกย่อว่า P1 ตัว โด คู่ เร เราเรียกว่า Major Second เรียกย่อว่า M2 ตัว โด คู่ มี เราเรียกว่า Major Third เรียกย่อว่า M3 ตัว โด คู่ ฟา เราเรียกว่า Perfect Forth เรียกย่อว่า P4 ตัว โด คู่ ซอล เราเรียกว่า Perfect Fifth เรียกย่อว่า P5 ตัว โด คู่ ลา เราเรียกว่า Major Sixth เรียกย่อว่า M6 ตัว โด คู่ ที เราเรียกว่า Major Seventh เรียกย่อว่า M7 ตัว โด คู่ โด(สูงขึ้น) Perfect Octave เรียกย่อว่า P8 จำไว้ว่าคู่ 1, 4 , 5 ,8 เป็น Perfect ส่วน 2,3,6,7 เป็น Major (ขอบอกว่าต้องจำจนวันตายเลย) Key of C major และแน่นอนครับไม่ได้มีเท่านี้ ยังมีศัพท์อื่นเช่น minor, augmented, dimminish และอื่น ๆ แต่จำไว้ว่าพื้นฐานการดูว่า interval ไหนเป็นชื่ออะไร เริ่มพื้นฐานมาจากในสเกลเมเจอร์ของเราเองนี่ล่ะ แต่ขอบอกไว้อีกนิดหนึ่งว่า ระบบในการทำความเข้าใจของเราจะใช้ระบบ move do คือหมายความว่าเมื่อคีย์เป็นชื่ออื่น เราจะเรียกตัวนั้นเป็น โด เช่นคีย์ D major โน้ตตัว D จะเรียกว่าโด ระบบนี้มีมานานแล้ว โดยมากจะโดนเลี่ยงเรียกเป็นโน้ตตัวเลขกัน เช่นโดคือเลข 1 แสดงว่าเป็นตัวที่ 1 ของสเกล จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ บางซีกของการศึกษา จะใช้วิธีตรงข้ามที่เรียก fix do ก็คือตัวโด อยู่ที่โน้ตตัว C ตลอดเวลา โดยเฉพาะพวกเรียน composition วิธีนี้จะยากลำบากกว่าในการอ่านโน้ตปากเปล่า ส่วน move do จะทำให้ง่ายกว่าในการอ่านโน้ตปากเปล่า(ไม่ใช้เครื่องดนตรี) และง่ายกว่าในการฟัง Interval อีกด้วย ส่วนตอนเด็กผมเคยเรียน fix do และเปลี่ยนมาเป็น move do ก็ทำได้ไม่ยาก ก็ผสมกันไปเพราะเข้าใจระบบ move do เป็นเหมือนกับการถอดรหัสออกมาแล้ว ส่วนคน fix do ก็คือคนที่อ่านรหัสแล้วเข้าใจรหัส แต่จะลำบากกว่าในตอน เริ่มต้นแค่นั้นเอง ผมเคยเรียนที่ Manhattan เจอนักเรียนเกาหลีปีเดียวกัน แต่เขาเรียน composition เอาโน้ตง่าย ๆมานั่งคิด นั่งนึก เขายื่นให้ดูว่าอ่านออกเสียงได้ไหม ผมก็อ่านให้ฟัง เขาตกใจมากว่าเราทำได้อย่างไร ตอนนั้นเองทำให้ผมรู้ว่า การเรียน compositon หรือการเรียนแต่งเพลง การเรียน fix do จำเป็นมากในการ analyse หรือวิเคราะห์ แน่นอนล่ะ กว่าพวก fix do จะทำได้ก็หืดขึ้นคอ มันเป็นเรื่องของได้อย่างเสียอย่าง แต่ผมว่ายังไงแล้ว move do ทำให้เราอ่านได้เร็วกว่าเหมาะกับ พวกคอรัสอาชีพ นักดนตรี ทั่ว ๆไปมากกว่า และแน่นอนครับการสอนให้อ่านโน้ตออกเสียงแบบ move do จะได้ผลดีต้องเรียนตัวต่อตัวกับครูครับ หัดเองได้กับหนังสือ ก็ถือว่า โอ้โฮ Key of D major วันนี้ก็ขอฝากให้กลับไปทบทวนแบบฝึกหัด interval test คลิกไปคลิกมาให้คุ้น เร มี ซอล เป็นเบื้องต้น ได้อ่านนิยายเรื่อง Digital Fortress แล้วเขาเข้ารหัสคำว่า IM GLAD WE MET ว่า HL FKZC VD LDS หากใคร get หรือเข้าใจว่ามาจากไหน ก็คล้ายกับการอ่านโน้ต move do หรือการถอดรหัสนั่นเองครับ(เฉลยแค่ตัวแรก แล้วจะรู้ตัวอื่น H มาแทน I เพราะมาก่อน 1 ตัวอักษร ส่วน Z มาแทน A เพราะการย้อน loop ไปต้นใหม่ ลองเขียนลงกระดาษก็ได้ การถอดรหัสก็มาจากการเข้าใจ system ของมันก่อน เสียดายว่าภาษาของเราทำยากกว่า ไม่งั้นสนุกกว่านี้) เรื่อง move do ยกตัวอย่างไปแล้วว่าเมื่อเจอคีย์ D major ตัวโดจะเลื่อนเป็นตัว D แทน แล้วตัวอื่นก็แค่เลื่อนขึ้น เช่น E ก็กลายเป็นตัวเรแทน หากอ่านมาถึงตรงนี้ ผู้เริ่มต้นอาจจะรู้สึกว่ายากทันที แต่จริง ๆแล้วไม่หรอก หากพยายามอ่านระบบ fix Do แต่กลายเป็นคีย์ที่มี 3 sharp เช่นคีย์ A ก็จะรู้สึกว่าหืดขึ้นคอเลยล่ะ หากเราตั้งระบบที่จะฝึกตา เช่น A เป็นโด B เป็นเร เราก็รู้ทำนองเพลงนั้นได้ง่ายกว่า เอาเป็นว่าเราเรียกมันว่า system ในการช่วยอ่านให้สำเร็จ มาดู Interval ในคีย์ G กันบ้างครับ จะอธิบายละเอียดขึ้น ซึ่งจะใช้ apply กับคีย์ C และ D ที่ผ่านมาได้ครับ Key of G major ลักษณะเจ้าตัวโน้ต เบียดกัน หรือซ้อนกันแบบนี้ หากเห็นบนโน้ตดนตรีให้เครื่องดนตรีเล่น จะกดมาห้องละพร้อมกันเราเรียกว่า "ฮาร์โมนิคอินเทอร์เวิล" Harmonic Interval หรือคู่ระยะที่มาในแบบการประสานเสียง คือกดพร้อมกัน จะมีอีกแบบเรียกว่า "เมโลดิคอินเทอร์เวิล" Melodic interval จะเป็นลักษณะกดตัวล่างก่อน แล้วกดตัวบนต่อมา เป็นลักษณะคู่ระยะเล่นในลักษณะทำนอง ยกตัวอย่างคือ Melodic Interval หากใครสงสัยว่า อ้าวทำไมมีหาง ก็เพราะว่าห้องเพลง 4/4 (ไม่ได้แสดงให้เห็นMeter) จะมีจังหวะรวมห้องละ 4 จังหวะ หากเล่นต่อกันก็แบ่งไปตัวละ 2 ส่วนทำไม ฮาร์โมนิค อินเทอร์เวิลใช้ตัวละ 4 จังหวะได้ก็เพราะว่ามันเล่นพร้อมกัน ก็เลยเล่นพร้อมกันด้วยความยาว 4 จังหวะได้นั่นเอง ตัวขาวที่มีหาง ในมิเตอร์ 4/4 จะยาวตัวละ 2 จังหวะครับ ในชั้นเรียนครูมักจะมีวิชาที่เรียกว่า Ear Training หรืออีกอย่างว่า Dictation คือเล่นโน้ตบนเครื่องดนตรีแล้วให้นักเรียนเขียนตาม พอถึงช่วง Interval ครูจะบอกว่า ต่อไปเป็น Harmonic Interval หรือ Melodic Interval ส่วนใหญ่นักเรียนจะฟัง Melodic Interval ได้ง่ายกว่า เพราะหากครูที่เล่นเป็นนักเปียโนจริง ๆ จะทำให้เราฟังได้ยาก โดยเฉพาะ Harmonic Interval เพราะเขาจะมีลูกเล่นเพื่อเปลี่ยน color ของเสียงทำให้บางทีหากไม่คิดดี ๆก็จะฟังผิดได้เหมือนกัน ก่อนจะก่อตัวไปถึงการฟังว่าเสียงไหนเป็นชื่อไหน ลำดับญาติอย่างไร คงต้องมาทำความเข้าใจกันในวิถีธรรมชาติก่อน คนเรานั้นฟังเพลงและจำทำนองเพลงได้ เมื่อเวลาผ่านไป อาจจะไม่นาน ย้อนกลับมาร้องเพลงอีกครั้ง ร้องได้ว่าเป็นเพลงใด แต่อย่างหนึ่งที่อาจจะเปลี่ยนคือระดับเสียงอาจจะต่ำลงทั้งแถบ หรือไม่ก็สูงขึ้นทั้งแถบ แต่ที่ยังคงอยู่ก็คือ ความเป็นสัดส่วนซึ่งกันและกัน การรักษาสัดส่วนจากโน้ตนี้ไปโน้ตนั้น ถึงแม้เปลี่ยนระดับเสียงไป ทำให้เรายังคงร้องเพลงแล้วคนยังรู้ว่า "กำลังร้องเพลงอะไร" อยู่ได้ ไม่ต้องกังวลถึงการเรียกว่าโน้ตนั้นโน้ตนี้ของผมว่าเป็นเชิงวิชาการหรอกครับ เอาเป็นว่าอะไรในโลกนี้ เสียงแตรรถ เสียงเตือนตอนทำอะไรผิดในคอมพ์ หากมีระดับเสียง แน่นอน เราก็เรียกว่ามันเป็นโน้ตหมดนั่นล่ะ แม้แต่เสียงเครื่องตัดหญ้าก็มีความถี่ต่ำ เป็นเบสปนอยู่เราก็เรียกว่าโน้ตได้ สรุปได้ว่า คนเรานั้น move ตัว โด ตลอดเวลา เช่นอาการว่าวันหนึ่งเพื่อนขอให้ร้องเพลงให้ฟัง แต่ร้องไปถึงท่อนแยกร้องไม่ถึงเลยบอกว่าขอเริ่มต้นใหม่เสียงต่ำกว่าหน่อย ร้องจนถึงท่อนแยกได้อย่างไม่มีปัญหา และร้องจนจบเพลง นั่นล่ะคือการ move ตัว โด แล้วล่ะ แต่โด ความถี่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง หากมีคนเอามิเตอร์มาวัด หรือเครื่องเทียบเสียงมาขอวัด ก็จะรู้เอาตอนนั้น การจำสัดส่วนเหล่านั้นเป็นสาเหตุให้นักร้อง นักดนตรี ที่อ่านโน้ตได้(ปากเปล่า) สามารถอ่านโน้ตได้จริง ๆโดยอาจจะกดเครื่องดนตรีแค่ครั้งเดียวว่าตัวเองอยู่ในคีย์ไหนบ้าง เท่านั้นเอง สิ่งที่เราทำเบื้องแรกก็คือจำว่า โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด เป็นเหมือนเพลง ๆหนึ่งที่เราร้องขึ้นใจ ซาบซึ้งจนสามารถสลับตัวโน้ตไว้หน้า ไว้หลัง ตัวนั้นที ตัวนี้ทีได้ เมื่อเจอโน้ตเพลงที่เขียนสลับอีกแบบ เราก็เพียงเอาเพลง โด เร มี ของเรามาเป็นตัวอ้างอิงในการร้องเพลงใหม่เหล่านั้น ก็จะทำให้เราสามารถร้องโน้ตใหม่ ๆได้โดยที่ไม่เคย ได้ยินเพลงใหม่นั้นมาก่อนในชีวิตก็ตาม จะว่าไปแล้วมันเป็นความสนุกสนานเลยทีเดียว และจะสร้างความภาคภูมิใจในกับตัวเราอย่างมากทีเดียวถ้าเราสามารถทำได้ เดิมผมเคยเรียนอยู่โรงเรียนสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ผมเรียนอยู่ที่นั่นสองปีรวมพลพรรคเพื่อนเล่นวงดนตรี ผมรับตำแหน่งมือเบสตอนนั้นสนุกสนานมาก เพราะว่าพวกเรา สามารถหาเงินเข้าโรงเรียน ซื้อเครื่องดนตรีเครื่องกีฬาได้ การเล่นเบสของผมเป็นระบบใช้ความจำ ผมได้ประโยชน์จากการจำ part การเล่นผมเมื่อตอนสอบเข้าเรียนดนตรีที่ มหาวิทยาลัยพายัพได้ ตอนปี 1 ผมต้องเรียนวิชา sigh-singing ก็คืออะไรที่ผมกำลังพูดตอนนี้ การเล่นเบสของผมเมื่อก่อน ก็คือพื้นฐานของเพลง โด เร มี และผมเข้าใจ ไอเดียของการ move ตัวโด ได้ภายในวันแรกของการเรียน เนื่องจากผมเรียนรู้บางอย่าง จากการปฎิบัติแล้วในตอนที่เป็นมือเบส และเข้าใจเหตุผลของมันบางอย่างด้วยหู ผิดกับเพื่อน ๆบางคนที่ยังคลางแคลงใจ เพราะคนอื่นอ่านโน้ตระบบ fix do มาแต่เด็กเหมือนกันทุกคน "ก็เห็นว่าเป็นตัวเร ทำไมร้องตัวโดหว่า" แต่ก็ได้มาร้องอ๋อในชั่วโมง choir หรือขับร้องประสานเสียง ที่นั่นนักเรียนทุกชั้นปีจะมาเจอกันทุก ๆ 5 โมงเย็น นักเรียนปี 1 อย่างพวกเราได้ยินรุ่นพี่ร้องโด เร มี อ่านจากเพลงประสานเสียง 4 เสียง ตอนนั้นก็นั่งเสียงใครเสียงมัน เป็น soprano alto tener และ bass ออกมาเป็นเพลงเลย พร้อมเสียงประสานใหญ่โต แล้วผมถามรุ่นพี่ว่า เคยร้องเพลงนี้มาก่อนหรือเปล่า รุ่นพี่บอกว่าไม่หรอก เพิ่งอ่านเป็นครั้งแรกตอนนั้นล่ะ พวกเราก็ sight read กันเลย พอร้องคล่องแล้วถึงจะใส่เนื้อ ความเห็นผมตอนนั้นก็คือ แค่นั้นก็น่าจะแสดง ได้แล้วล่ะ เหมือนแต่ละคนทำหน้าที่เป็นนิ้วใดนิ้วหนึ่งของนักเปียโน ร้องส่วนของตัวเอง เหมือนกับนักดนตรีเล่นเฉพาะแนวของตัวเอง แต่ที่แน่ ๆ ทุก ๆคนที่ชำนาญแล้วเขาไม่ได้คิดแต่ เฉพาะ part ตัวเอง เขาฟังเสียงอื่น ๆไปด้วยและยังทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ บางทียังติได้ว่าคนไหน หรือว่าแนวไหนร้องเพี้ยนในขณะที่ตัวเองยังร้องเสียงตัวเอง อยู่ด้วย คือการร้องส่วนตัวเป็นเรื่อง "หมู ๆ" ไปเลย เพราะการฟังทั้งหมดว่าเป็นอย่างไรต่างหากที่ "สำคัญ" สำหรับนักศึกษาดนตรี มาถึงจุดนี้ หากใครเป็นคนเล่นกีต้าร์ หรือเล่นเบส ฯลฯ ด้วยความจำด้วย "หูนำ" แล้วมาหัดอ่านโน้ตทีหลังผมขอบอกเลยว่าคุณเป็นคนโชคดี หลักการสอนของโคดาย ครูสอนดนตรีชื่อดังของฮังการี่บอกไว้ว่า "คนเราพูด ฟังและเข้าใจ ก่อนการเขียนและอ่าน ดนตรีก็ควรเป็นเหมือนกัน" ผมจำไม่ได้ละเอียดทุก details แต่หวังว่าคงเข้าใจนะครับ บางครั้งการเรียนดนตรีโดยใช้การอ่านโน้ตเป็นจุดเริ่มต้นแบบผิดวิธี ทำให้คนเรียนวิธีนั้นเล่นดนตรีไม่ค่อยจะไพเราะอยู่บ่อยๆ คือใช้อ่านและกด เป็นเหมือนพิมพ์ดีด มากกว่าจะ "เล่นดนตรี" แต่เป็นการ "อ่าน" เท่านั้น ซึ่งครูต้องคอยเตือนบ่อย ๆว่า "ฟังตัวเองเล่นหรือเปล่า"(เรื่องนี้มีข้อยกเว้นครับ ไม่ได้เหมารวม) มีตัวอย่างมาให้ชมกันนะครับ จะเป็นทำนองเดียวกันที่คุ้นหู ปกติคนเราก็จะฮัมเพลงแบบนี้ และยังรักษาสัดส่วนต่อเนื่องกันแต่ละเสียง ทำให้ยังคงเป็นทำนองเดิม เพลงเดิม แต่ระดับเสียงของทั้งแถบ ทั้งเพลงเปลี่ยนไปด้วยลักษณะทางวิชาการว่า "เปลี่ยนคีย์" ตัวอย่างนี้แสดงความสมเหตุผลที่จะจำ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด เป็นเพลงที่คุ้นหู เพื่อจะจำไว้ใช้ในการอ่านเพลงใหม่ อื่น ๆต่อไปได้ แสดงให้ชมกันเป็น 3 คีย์ด้วยกัน (คลิก) ส่วนคนที่อ่านโน้ตเป็นแล้วมาก่อน เมื่อเจอโน้ตเพลงคีย์ต่าง ๆไป การเล่นทางปฎิบัติก็ยังคงเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เห็น G ก็กด G เห็น A ก็กด A การเรียกชื่อต่างหากล่ะที่เปลี่ยนไป จะเปลี่ยนแปลงตรงที่ว่าเริ่มจะมาคิดใหม่ทำใหม่ว่า Tonic ของคีย์นั้น(ใน major key) จะง่ายในการร้องเพลง เราต้องออกชื่อเป็น do แล้วและตัวอื่นก็เปลี่ยนตาม ๆกัน การจะเรียกโน้ต ต่อไปคงต้องเปลี่ยนเป็นอักษร C D E F G A B แทนที่จะเรียกว่า โด คือ C และ เร คือ D คงที่ไปตลอดเวลา ใช่แล้วครับ โด จะเป็น C ก็ต่อเมื่ออยู่ใน Key of C ตามตำราแบบ move do นี้ (หากต้องการเรียนเรื่อง sigh singing และ ear training ติดต่อทิ้งเมล์ไว้ที่ dukeudom@csloxinfo.com และ sam2363@yahoo.com นะครับ ตอนนี้กำลังรวบรวมซาวเสียง เพื่อหากลุ่มนักเรียน) ลองฟัง Interval ในคีย์ C major นะครับ ทำตัวอย่างก่อน 1 อันแล้วจะเพิ่มมาเรื่อย ๆครับ click Interval ในคีย์ D major click งง เรื่องจำนวนชารป์ หรือ แฟลต คลิกได้ที่นี่ไม่ต้องงงอีกต่อไป flat sharp Chords Map สำหรับผู้สนใจเรื่องทางเดินของคอร์ดครับ click ต่อไป การอ่านโน้ตตอนที่ 2 click และหน้าใหม่ ตอนที่ 3 "จำเป็นไหมจะต้องอ่านโน้ตเป็น และหัดเองได้หรือเปล่า"click (15 เมษายน 2551) มี update แบบฝึกหัดเพิ่มเติมที่นี่ครับ <click> |
|
![]() |